ทำไมต้องมีเว็บไซต์



เมื่อสื่อโซเชียลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น การให้ความสำคัญของเว็บไซต์ก็น้อยลงเรื่อยๆ อาจจะเพราะสื่อโซเชียลเป็นของฟรี และมีการปฎิสัมพันธ์กัน 2 ทางได้ดีและรวดเร็วกว่า แต่ทว่า เว็บไซต์ก็ยังเป็นเครื่องมือพื้นฐานอย่างหนึ่งในการทำการตลาดออนไลน์ ด้วยเหตุผลที่ผมกลั่นออกมาให้ได้เป็นทฤษฎีที่ผมตั้งชื่อเองว่า  D.O.T

D.O.T   เหตุผลที่คุณต้องมีเว็บไซต์  

D = Data  = คลังเก็บข้อมูล

เว็บไซต์ เป็นแหล่งเก็บข้อมูลชั้นดี ที่คุณสามารถเก็บทุกอย่างที่คุณต้องการไว้ในที่แห่งนี้ ในรูปแบบของสื่อ Digital และยังสามารถจัดเก็บได้เป็นหมวดหมู่ชัดเจน ง่ายต่อการค้นหาทั้งผู้เข้าชมเว็บ และง่ายต่อการค้นหาใน Google เว็บไซต์ทุกเว็บจะถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูล Google อัตโนมัติ หากคุณต้องการให้คนค้นหาคำว่าอะไร เพียงแค่ใส่ Keyword สิ่งนั้นๆ ไว้ในเว็บของคุณ Google ก็พร้อมจะจัดระบบ การค้นหาให้คุณไปพร้อมๆ กัน

หากเทียบกับ Facebook บาง content ที่ดีของคุณ เมื่อวันวานผ่านไป ข้อมูลเหล่านั้นก็จะถูกจัดอันดับลงไปเรื่อยๆ ตาม Timeline ในแต่ละวัน ยิ่งวันวานผ่านพ้นไป เนื้อหาดีๆ ที่เราภูมิใจเป็นที่สุด อาจจะไม่มีคนเห็นอีกต่อไป แต่ถ้าคุณรวบรวมเนื้อหา เหล่านั้นเก็บไว้ในคลังข้อมูลของคุณที่อีกที่ เว็บไซต์ ของคุณ มันก็ง่ายต่อการค้นหา และพบเห็นได้มากกว่า และเนื้อหาบางเนื้อหาของคุณก็อาจจะเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้อีกมากในอนาคต

นอกจากนี้ Google ก็เป็นอีกแหล่ง ในการนำคน มารู้จักคุณอีกด้วย หากบทความคุณมีคนกำลังค้นหา เนื้อหาโดนใจ เป็นประโยชน์กับเขา เขาก็อาจจะมาเป็นลูกค้าคุณในอนาคตได้อีกด้วย

O = Owner = คุณคือเจ้าของ

คนที่จะมีเว็บไซต์ได้นั้น แสดงให้เห็นว่าเป็นคนเอาจริง เพราะมีค่าใช้จ่ายในการจดโดเมน, เช่าโฮสต์, และทำเว็บไซต์  ไม่เหมือน Facebook หรือ Social อื่นๆ ที่ใช้บริการฟรี ใครๆ อยากจะเปิดเพจก็มาเปิดได้ง่าย

เว็บไซต์ เปรียบเหมือนบ้าน เป็นร้านค้า เป็นศูนย์บัญชาการของคุณ และมันจะอยู่กับคุณตลอดไป เพราะคุณคือเจ้าของมัน แต่ Social ต่างๆ เปรียบเหมือนบ้านเช่า ที่เราต้องอยู่ตามกฎเกณฑ์ กติกา ของเจ้าของบ้านตลอด ไม่รู้ว่าวันใด วันหนึ่ง เจ้าของบ้านจะไล่เราออกเมื่อไหร่ พวก content ต่างๆ ที่เราเพียรนั่งเขียนทุกวัน อาจจะไม่เหลือให้เราเห็นอีกต่อไปก็เป็นได้ จะดีกว่าไม๊ หากเรามีฐานบัญชาการของเราเองไว้ด้วย เพื่อเก็บข้อมูล และยังทำประโยชน์อย่างอื่นให้เราได้อีกมากมาย

เว็บไซต์ อาจเปรียบได้เหมือนนามบัตร ที่อยู่บนโลกออนไลน์ สำหรับผู้ที่ทำ Personal Branding แนะนำให้จดโดเมน เป็นชื่อของคุณเอง แล้วบน Title ใส่ชื่อเต็มของคุณ หรือฉายาของคุณ รับรองไม่ถึง 1 เดือน ชื่อคุณจะปรากฎ บน Google คุณมีหน้าที่ Present ตัวเองเท่านั้นเอง

แต่ถ้าเป็นนามบัตรจริง คุณไม่สามารถใส่ข้อมูลทุกอย่างที่เป็นตัวคุณลงไปได้ทั้งหมดบนนามบัตรขนาดเล็กได้แน่นอน

T = Trust = ความน่าเชื่อถือ

หากลองเปรียบเทียบ ผู้ขาย 2 ราย มี Facebook เหมือนกัน มีสินค้าเหมือนกัน แต่ราย 1 มีเว็บไซต์ อีกรายหนึ่งไม่มีเว็บไซต์ ผมคิดว่าคนทีเว็บไซต์น่าเชื่อถือมากกว่า แต่ของเว็บคุณต้องดูดี น่าเชื่อถือด้วยนะ ไม่ใช่ดูรก ภาพไม่สวย จัดข้อความ รูปภาพเกยกัน แบบเด็กหัดทำ เนื้อหาต่างๆ ในเว็บต้องกระชับ ให้ข้อมูลชัดเจน

แล้วเราจะสร้างเว็บให้น่าเชื่อถือได้อย่างไร ? ผมจะแบ่งแยกออกเป็น 4 W 1 K

  • Who = คุณเป็นใคร ประวัติที่น่าสนใจของคุณเป็นอย่างไร ประสบการ์ที่ผ่านมามีอะไรบ้าง : About us
  • What = คุณทำอะไรได้ดี คุณทำอะไรได้บ้าง และคุณจะช่วยเหลืออะไรเขาได้บ้าง : Product & Service
  • Where = คุณให้บริการอยู่ที่ไหน ติดต่อคุณได้อย่างไร มีช่องทางติดต่ออะไรบ้าง ติดต่อง่ายจริงไม๊ : Contact us
  • Why = ทำไมลูกค้า ต้องเลือกคุณ โดยคุณอาจจะแสดงเป็น Portfolio งานที่ผ่านมา , Testimonial คำนิยม ความเห็นลูกค้า เป็นต้น : Portpolio

จริงๆ แค่ 4 W ที่ทำได้สมบูรณ์ ก็กินขาดคนไม่มีเว็บไซต์แล้วล่ะ แต่ถ้า คู่แข่งมีเว็บเหมือนกัน อีกตัวที่จะเป็นตัวตัดสินคือ K

  • Knowledge =  การให้ความรู้ ด้วยบทความ หรือจะเป็น VDO ที่ Upload ลงบน YouTube แล้วมาแปะที่เว็บของเรา เพื่อให้ง่ายต่อการดู ใครให้คุณค่าผู้คนมากกว่าคนนั้น เปรียบเสมือนผู้ให้ เข้าคำที่ว่า “ยิ่งให้ยิ่งได้” คุณแค่ให้ครั้งเดียว ทิ้งไว้บนเว็บไซต์ ใครผ่านไปผ่านมา พบก็จะเป็นประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย

ประโยชน์อื่นๆ ของเว็บไซต์

  • เชื่อมต่อโปรแกรมสำหรับเก็บข้อมูล Email ลูกค้า
  • ใส่ Code สำหรับ ติดตามผู้เยี่ยมชม กรณีลงโฆษณากับ Facebook & Google Adwords
  • ทำระบบ Ecommerce เต็มรูปแบบสำหรับขายของออไลน์
  • ทำระบบ แสดงสินค้าและบริการ ที่จัดหมวดหมู่เพื่อให้หาได้ง่ายกว่า Social ทั่วไป

 

4 สิ่งต้องทำ ถ้าคิดจะทำเว็บไซต์

จากบทความที่แล้วผมได้พูดเกี่ยวกับว่า “ทำไม” เราต้องมีเว็บไซต์ ซึ่งก็ทำให้ใครหลายคนเริ่มมีความคิดว่า เราควรจะมี หรือ ทำเว็บไซต์ ซะที แต่ใช่ว่าทุกคนที่มีเว็บ จะประสบความสำเร็จ เพราะจากประสบการณ์ที่ให้บริการมา 10 ปี มีทั้งเว็บเกิดใหม่ และล้มหายตายจากไปก็หลายเว็บ ทำได้ปีเดียว ปีต่อไปไม่ต่ออายุ เพราะคิดว่าทำแล้วมันไม่เกิดประโยชน์อะไร เสียเงินเปล่าๆ เลยไม่ต่อ

วันนี้ผมเลยมาบอกเทคนิค เล็กๆ น้อยๆ ถ้าพร้อมแล้วก็กดดูในคลิปวิดีโอด้านล่างนี้ได้เลย พร้อมสรุปแบบละเอียดใต้วิดีโอ

 

4 สิ่งต้องทำ ถ้าคิดจะทำเว็บไซต์

  1. โดเมนกระชับ

ชื่อโดเมน ถ้าหาได้ ต้องสั้น  ตัวอักษรสะกดง่าย พยางค์น้อยๆ ยิ่งดี ไม่ควรเกิน 4 พยางค์  (แต่ส่วนใหญ่คำสั้นๆ มักถูกจดไปหมดแล้ว) เรามักจะเห็นว่าเว็บไซต์ ระดับโลก จะมีแค่ 2-3 พยางค์ เช่น google.com , facebook.com , apple.com , amazon.com , yahoo.com , microsoft.com , lazada.com ถ้าเป็นในประเทศไทย ก็เช่น sanook.com , mthai.com , kapook.com , pantip.com , khaosod.co.th , thairath.co.th , tarad.com เป็นต้น

หรือถ้าเป็นแบบ Personal เว็บบุคคล ก็มักจะใช้ชื่อของตัวเอง เช่น boywisoot.com , bandit.org , coachsiriluck.com , kittitrirat.com เป็นต้น

 ผมขอสรุปหลักในการเลือกชื่อโดเมนดี (ตามแบบฉบับความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ ท่านใดคิดต่างก็ไม่ว่ากัน)

  • ชื่อโดเมน จำนวนพยางค์เต็มที่ไม่ควรเกิน 4 พยางค์ : หากเลี่ยงไม่ได้ อาจใช้คำที่เข้าใจง่าย มีความหมายมาเสริมต่อท้าย หรือนำหน้า ชื่อเราอีกทีได้ เพราะชื่อโดเมนบางชื่อหายากแล้ว เช่น คำว่า thailand , coach , aj , class , course , trainner , trainning , school , book , food (คำที่บ่งบอกอาชีพของคุณ)
  • ชื่อโดเมน ไม่ต้องคำนึงถึง เอกพจน์ พหูพจน์ เอาแบบตรงๆ ไม่ต้องเติม s อะไรให้สะกดผิด
  • ควรหลีกเลี่ยงชื่อ เฉพาะแบบภาษาไทยที่สะกดยาก เช่น หากชื่อว่า บ้านโอบดาวแก่งกระจานรีสอร์ท นึกภาพเวลาเราคุยโทรศัพท์กับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ เราสามารถบอกชื่อเว็บเราให้ลูกค้าได้รับรู้ภายใน 7 วินาที เหรอเปล่า อย่างในกรณีตัวอย่างนี้สมมุติ เจ้าของ Resort ตั้งชื่อเต็มเลย คุณคิดว่าจะมีซักกี่คนที่สะกดถูกในครั้งเดียวบ้าง –>  BaanAobDaoKaengkrachanResort.com
    – บ้าน บางคนสะกด Baan  บางคนสะกด Ban
    – ดาว บางคนสะกด Dao , Down  หรืออาจจะเป็น Star ก็ได้
    – แก่งกระจาน ก็อาจมีคนสะกดผิดอีก พิมพ์ไปพิมพ์มา เข้าเว็บไม่ได้ เลิกหาเลยก็เป็นได้ และถ้ายิ่งหาใน Google ไม่เจออีกก็จบครับ
    กรณีนี้ น่าจะตั้งชื่ออะไรดีครับ ? แน่นอนมันเป็นชื่อรีสอร์ท ชื่อเฉพาะมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็จำเป็นต้อง ใช้ชื่อเฉพาะ โดยให้เราหาใน google นิดนึงว่าปกติ หากเราพิมพ์ภาษาไทยคำนี้ คนส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษว่าอะไร หรือ google แนะนำคำว่าอะไรให้ ถ้าจะแนะนำก็เป็น BaanAobDao.com ก็พอ ถ้าชื่อไม่ว่างก็ใส่คำว่า Resort ต่อท้ายเป็น BaanAobDaoResort.com
  • ชื่อโดเมนถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใส่ – กลาง กั้นคำ เพราะจะเป็นการเพิ่มพยางค์ การสนทนามากขึ้นไปอีก 1-3 คำเลย เช่น it-fever.com
    ภาษาพูดสื่อสาร :
    – ไอทีขีดฟีเวอร์ดอทคอม
    – ไอทีขีดกลางฟีเวอร์ดอทคอม,
    – ไอทีขีดกลางครับฟีเวอร์ดอทคอม
    – ไอทีแล้วก็ขีดกลางครับฟีเวอร์ดอทคอม มีขีดกลางด้วยนะครับ
    – ไอทีขีดกลางแล้วติดกันนะครับต่อด้วยฟีเวอร์ดอทคอม
    เป็นไงครับ สื่อสารยากขึ้นอีกเยอะเลย แต่ถ้าอยากแบ่งคำจริงๆ หรือชื่อที่เราต้องการจริงๆ มันถูกจดแล้ว ก็แล้วแต่พิจารณาครับ (ไม่ได้มีข้อห้ามอะไร)
  • หากต้องการทำ Personal Branding ชื่อคุณเหมาะสมที่สุด หากชื่อซ้ำ ลองใส่คำเพิ่ม เช่น ชื่อเล่นชื่อจริง.com , aj (อาจารย์) , coach , 9 (นาย) , nine , Mr หรือคำที่เกี่ยวกับอาชีพ เช่น writer , trainner , specker , business หรือคำที่เป็นชื่อบริษัทอีกที ชื่อคุณชื่อบริษัท.com
  • ว่าด้วยเรื่อง DOT ต่อท้าย แนะนำ .com ครับ แนวที่สุดแล้ว ถ้าเป็นรูปบริษัท .co.th น่าเชื่อถือที่สุด เพราะนิติบุคคลเท่านั้นที่จดได้ คนธรรมดาจดไม่ได้
    อีก DOT ที่น่าสนใจ สำหรับลูกค้าในไทย ที่ไม่ใช้บริษัท คือ .in.th ดอทนี้ชื่อสวยๆ ยังว่างอีกเยอะ ครับ เพราะ .com คนจดกันทั่วโลก แต่ .in.th จดกันเพราะในไทย แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะเปิดเว็บได้เฉพาะในไทยนะครับ เว็บไซต์ เปิดได้ทั่วโลกอยู่แล้วไม่ว่าจะ DOT อะไรก็ตาม แต่การสื่อสารก็จะยาวขึ้นอีกหลายพยางค์เลย ^_^

 

2. ชัดเจนเนื้อหา

  • เนื้อหาต้องไม่รก ดูแล้วสับสน ไม่รู้จะดูตรงไหนก่อน สำหรับหน้าแรก ผมแนะนำให้มีคอลัมน์เดียว หรืออาจจะไม่ควรเกิน 2 คอลัมน์ เพราะสายตาคนดูจะสับสนไม่รู้จะโฟกัสตรงไหน และเนื้อหาเอาเฉพาะเน้นๆ สรุปหัวข้อหลักๆ แล้วค่อยทำ Link ตามไปดูรายละเอียดได้
  • สำหร้บหน้าแรก (Home) พยายามทำให้หน้าตาดูคลีนๆ มีช่องว่างเยอะๆ เนื้อหาและคำอธิบายน้อยๆ ชัดเจน เน้นรูปภาพสวยๆ หรูๆ
  • เรื่อง Font สำหรับหัวข้อ อาจเปลี่ยนเป็น Font แปลกๆ อย่างเช่นตัวอย่างเว็บนี้ ส่วนเนื้อหาเอา font หัวกลมธรรมดา จะได้อ่านง่าย เพราะเราถูกฝึกมาให้เขียน อ่านภาษาไทย เป็นหัวกลมๆ มาตั้งแต่เด็ก
  • โทนสีเว็บ อาจจะอิงกับ Logo ของตัวเอง หรืออิงตามสินค้าหรือบริการของเรา หรือใครจะเอาเรื่องการถูกฉโลกมาใช้ก็ได้ แต่อย่าให้ฉุดฉาด แสบตา หลากหลายสีสันเกินไปก็พอ หรืออาจจะลองดูความหมายของทฤษฎีสี ก็ได้
  • สีพื้นหลัง ที่ใช้ใส่เนื้อหา แนะนำสีขาวเป็นสีหลัก เพราะง่ายต่อการจัดการใส่ภาพ และดูสะอาดตา เหมือนเราพิมพ์ข้อความลงกระดาษขาว

 

3. งานอัพเดทต้องมา

การทำเว็บไซต์ จริงๆ มันไม่มีวันเสร็จ เพราะเราต้องอัพเดทมันไปตลอด แน่นอนช่วงแรกๆ ในการก่อสร้างมาเป็นเว็บอาจจะใช้เวลานิดหน่อย และใช้พลังงานค่อนข้างมาก เมื่อเนื้อหาครบสมบูรณ์แล้ว งานต่อไปก็แค่หมั่นอัพเดทข้อมูล อาจจะไม่ต้องอัพกันทุกวัน เพราะเราไม่ใช่เว็บสำนักข่าว แต่ถ้าบางคนเขียนบทความลง facebook ทุกวันอยู่แล้ว ก็ไม่ยากที่จะเขียนบทความอัพเดทเว็บทุกวันได้ ซึ่งแน่นอนมันก็เป็นผลดีต่อการจัดอันดับบน Google ด้วย

แต่สำหรับคนที่ไม่สามารถ เขียนบทความทุกวันได้ อย่างน้อยๆ ก็วันสำคัญๆ , วันที่จะจัดโปรโมชั่น ก็อัพเดทซักครั้ง และเมื่อโปรโมชั่นหมดก็อย่าลืมเอาออก อย่าทิ้งไว้ จนดูเหมือนเว็บร้างนะครับ เว็บร้างไม่ต่างอะไรกับบริษัทร้าง คนเข้าชมก็จะรีบหนีไปทันที (กลัวผีหลอก ^__^)

 

4. มือถือมาต้องเอาใจ

ทุกวันนี้คนเล่นมือถือ มากกว่าคอมพิวเตอร์แล้ว หากเว็บของคุณไม่สามารถแสดงผลได้ดีบนมือถือ หรืออ่านยาก ต้องใช้ 2 มือ ต้องซูม จะทำให้ลูกค้ารู้สึกได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีได้ หากคุณจะทำเว็บทั้งทีมันต้องดูดีกับทุกอุปกรณ์ เราเรียกว่า Responesive Design การออกแบบที่ปรับโครงสร้างการแสดงผลแบบอัตโนมัติ ซึ่งเว็บสมัยใหม่ต้องทำได้ทุกเว็บ และ WordPress ก็ทำได้เช่นกัน

ผมจะแนะนำให้ใช้ WordPress เพราะใช้งานง่าย เรียนรู้ได้เร็ว และเป็น Responesive ด้วย

เว็บนี้ก็ทำจาก WordPress และเว็บทั้งหมดของลูกค้าที่จะให้ทางผมทำ ผมจะหันมาใช้ WordPress ทั้งหมด แล้วพบกับขั้นตอนแบบสรุปว่าหากเราจะทำเว็บเป็นของตัวเองซักเว็บ มันจะมีขั้นตอนทำอย่างไรบ้าง

 

สรุปขั้นตอนการสร้างเว็บ

ขั้นตอนการสร้างเว็บ

โดยทั่วไปทางผมจะแนะนำให้คนทำเว็บใช้ CMS (Content Management System) ที่ชื่อว่า wordpress เพราะใช้งานง่าย และมีเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้เราเยอะ และเป็นระบบเว็บไซต์ที่มีคนใช้งานมากที่สุดในโลก เว็บดังๆ ในไทยที่ใช้เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , เดลินิวส์ , Macthai.com, thumbsup เป็นต้น ลองดูความคิดเห็นของเหล่าเพื่อนๆ ใน Group Facebook  WordPress Alliance – พูดคุย ปรึกษา แนะนำ WP ด้วยคำถามที่ว่า ทำไมเพื่อนๆ ถึงเลือกใช้ wordpress

why wordpress

และนั้นก็คือส่วนหนึ่งของความคิดเห็นของเหล่ากูรูแต่ละคน (แต่ละคนเก่งๆ ทั้งนั้น)
ทีนี่เมื่อคุณเริ่มสนใจอยากใช้แล้ว ซึ่งผมก็แนะนำ
เรามาดูขั้นตอนว่ามันมีขั้นตอนหลักๆ อย่างไรบ้าง โดยเริ่มจากเรายังไม่มีอะไรเลย

ขั้นตอนการสร้างเว็บไซต์เริ่มจาก 0 -10

  1. จดโดเมน คือ ชื่อเว็บไซต์ที่คุณต้องการ เช่น itfever.com , 9nara.com คุณอาจจะลองกลับไปอ่าน วิธีการจดโดเมน เรื่องโดเมนกระชับใน บทความที่ผ่านมา
  2. เช่า Hosting ไว้สำหรับเก็บพื้นที่เว็บ ที่เราจะทำจาก wordpress
  3. ติดตั้ง wordpress เพื่อเป็นโครงสร้างเว็บ (เปรียบเหมือนลงเสาเข็ม)
  4. ติดตั้ง Theme หรือหน้ากากเว็บ (เปรียบเหมือนตกแต่งบ้าน)
  5. ติดตั้ง Plugin หรือเครื่องมือสำหรับจัดการเว็บ (เปรียบเหมือนการใส่เฟอร์นิเจอร์)
  6. ตั้งค่า WordPress + Theme + Plugin ต่างๆ ให้พร้อมใช้งาน ในแบบที่เราต้องการ
  7. วางโครงสร้างหน้าเว็บว่าเราจะให้มีหน้าอะไรบ้าง กี่หน้า อาจร่างลงบนกระดาษก่อน (เปรียบเหมือนการสร้างห้อง และ Design ตกแต่งภายใน)
  8. หาภาพประกอบสำหรับแต่ละหน้า พร้อมตกแต่งเตรียมไว้
  9. เริ่มเขียนข้อมูลลงหน้า Page ต่างๆ ที่ได้ร่างไว้
  10. เริ่มเขียนบทความ หรือใส่สินค้าที่เรามีลงใน Posts แล้วเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป 

ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมา มีทั้งสำเร็จ และไม่สำเร็จ บ้างก็แค่จองชื่อกันข้ามปี ทำข้อ 1 ค้างไว้
บ้างก็มีเช่า Host ทิ้งไว้ไม่ทำอะไรถึงแค่ข้อ 2
บ้างก็ติดตั้ง wordpress แล้วก็ไม่ได้ติดตั้ง Theme ไปได้แค่ข้อ 3
บ้างก็มาติดที่ Plugin ข้อ 5 แล้วไม่ Post อะไรต่อ
ซึ่งแต่ละข้อก็มักจะมีคนติด และผ่านไปไม่ได้
และนี่แหละครับ คือปัญหาของคนทำเว็บเอง ทำ 10 เสร็จ 2 ไปรอด 1

บางคนถึงกับลงทุนไปเรียนทำเว็บ หรือบางคนไปเรียนทำ wordpress โดยตรงก็มี
แต่กลับมาก็ทำไม่สำเร็จเพราะ ขี้เกียจ หรือทำแล้วไม่ได้อย่างที่เรียนมา หรือทำแล้วติดปัญหา ไม่รู้จะถามใครต่อ ก็เลยไม่เสร็จซะที
บางคนทำเสร็จเรียบร้อย แต่ปล่อยให้เว็บร้างเป็นข้ามปี ไม่ดูแลต่อ
เมื่อการใช้งานก็ไม่คุ้มกับเงินที่จ่ายรายปี เขาก็ไม่ต่ออายุ และเสียดายชื่อโดเมนดีๆ ที่ได้จับจองไป

ทั้งหมดนี้ถือเป็นปัญหา จึงทำให้ผมเกิดคำถามขึ้นว่า

เราจะทำอย่างไรให้ลูกค้าทำเว็บได้เสร็จเร็วขึ้น
ข้ามขั้นตอนที่ดูวุ่นวาย และการันตีว่าทำเสร็จ แน่ๆ ทุกคน
โดยให้เริ่มจากขั้นตอนที่ 1 แล้วกระโดดมาที่ขั้นตอนที่ 8  เลยได้อย่างไร ?

นั้นจึงเป็นที่มาของ เว็บสำเร็จกึ่งรูป Personal Branding   ตัวนี้

เว็บนี้เป็นอย่างไร ติดตามบทความถัดไปได้เลย > เว็บ Personal Branding 

เว็บ Personal Branding

Personal Branding

ขั้นตอนบริการทำเว็บกับเรา

1. ตรวจสอบชื่อโดเมนที่ต้องการ แนะนำ .com หรือถ้าตลาดไทย .in.th ก็น่าสนใจ ส่วน dot อื่นๆ ก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล คุณสามารถตรวจสอบชื่อโดเมนที่ว่างได้ที่หน้าแรกของ www.itfever.com ในกล่องตรวจสอบชื่อโดเมนว่าง

2. ลงทะเบียนสมัครใช้บริการ BrandFever ติดตั้งพร้อมใส่ข้อมูลให้ทั้งหมด -> คลิกสั่งซื้อ 

3. ชำระค่าบริการตาม Package ที่คุณเลือก ซื่งจะแจ้งให้ทราบทาง Email เมื่อท่านลงทะเบียนไว้ และอย่าลืมแจ้งยืนยันการชำระเงินให้ด้วยนะครับ เพื่อการติดต่อกลับ

4. รับชุดคำถามสำหรับส่งข้อมูลให้ทางเรานำไปออกแบบใส่ข้อมูลให้ท่าน